ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
นอกจากจะถือว่าหนังตะลุงเป็นเรื่องบันเทิงใจอย่างมหรสพทั่วๆ
ไปแล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยหลายประการ ซึ่งจะประมวลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้คือ
|
1. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอ ครูหมอคือบูรพาจารย์และบรรพบุรุษที่นายหนังแต่ละคนสืบเชื้อสายมา โดยเชื่อว่าครูเหล่านั้นยังห่วงใจผูกพันกับนายหนัง หากนายหนังบูชาเซ่นพลีตามโอกาสอันควร ครูหมอก็จะให้คุณ แต่หากละเลยก็อาจให้โทษได้ หนังตะลุงแทบทุกคนจึงมักตั้ง ตั้งหิ้ง (ชั้นไม้ขนาดเล็ก แขวนไว้ข้างฝาในที่สูง) ให้เป็นที่สถิตของครู ปักธูปเทียนบูชาและจะมีพิธีไหว้ครูเป็นระยะๆ เช่น 3 ปีต่อครั้ง ปีละครั้งเป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกับครูไว้อย่างไร |
2. ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนัง เชื่อว่ารูปทุกตัวที่ผูกไม้ตับ ผูกมือ เบิกปาก เบิกตา ชุบร่าง แล้วย่อมมีอาถรรพณ์ผู้ใดเล่นด้วยความไม่เคารพย่อมไม่เกิดมงคลแก่ตน อีกประการหนึ่งรูปแต่ละประเภทมีศักดิ์ไม่เท่ากัน การจัดเก็บต้องเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ และต้องเอารูปที่มีศักดิ์สูงไว้บนเสมอ |
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ รูปศักดิ์สิทธิ์ การทำรูปชนิดนี้ต้องเลือกหนังสัตว์ที่ตายไม่ปรกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย และหากเลือกชนิดสัตว์ได้เหมาะกับรูปก็ยิ่งจะทำให้ขลัง เช่น รูปตลกทำด้วยหนังหมี รูปฤาษีทำด้วยหนังเสือ เป็นต้น |
3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเดินทาง ก่อนออกเดินทางต้องทำพิธี ยกเครื่อง โดยประโคมดนตรีอย่างสั้นๆ นายหนังบอกกล่าวขอความสวัสดีจากครูหมอ ขณะเดินทางถ้าผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดวาอารามเก่าๆ จะหยุดประโคมดนตรีถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้น เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพจะว่าคาถา ทักเจ้าบ้าน (ทักทายเจ้าที่รักษาบ้าน) แล้วประโคมดนตรีสั้นๆ เรียกว่า ตั้งเครื่อง (บางคณะอาจตั้งเครื่องก่อนทำพิธีเบิกโรงก็ได้) |
4. ความเชื่ออื่นๆ ซึ่งมักเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำเพื่อป้องกันปัดเป่าเสนียดจัญไร ขอความสวัสดีมีชัย สร้างเมตตามหานิยม เช่น ก่อนขึ้นโรงดินเวียนโรงทำพิธีปัดเสนียด ผูกหนวดราม (เชือกผูกจอ) เส้นสุดท้ายพร้อมว่าคาถาผูกใจคน เป็นต้น |
ความเชื่อของหนังตะลุงมีมาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ แสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรอบรู้ไสยศาสตร์อย่างดีด้วยจึงจะเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าใดนัก |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น