วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศัพท์เฉพาะหนังตะลุง

ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับหนังตะลุง

๑.นายหนัง คือ ผู้แสดง รับผิดชอบอุปกรณ์ การแสดงทุกชิ้น รับผิดชอบเรื่องพาหนะเดินทาง ตลอดการกินของผู้คนทั้งคณะ
๒.ลูกคู่ คือผู้ประโคมดนตรีประกอบการแสดง คณะหนังโรงหนึ่งมี ๖ -๘ คน รับผิดชอบถืออุปกรณ์ต่างๆ ประโคมดนตรีตามความถนัดของตน
๓.ขันหมาก คือเครื่องบอกให้นายหนังทราบว่า มารับหนัง หรือมาว่าจ้างไปทำการแสดง โดยนำหมากพลูใส่ขัน ยื่นให้นายหนัง บอกวันเวลาและสถานที่ ถ้านายหนังรับไว้ เรียกว่ารับขันหมาก หากมีผู้มารับไว้ก่อนแล้ววันเวลาตรงกัน นายหนังบอกว่าติดขันหมาก รับขันหมากไว้แล้ว เกิดเหตุสุดวิสัยไปแสดงไม่ได้ เช่น ล้มป่วยลง ต้องให้คนนำขันหมากที่รับไว้ไปมอบให้แก่ผู้รับเรียกว่าคืนขันหมาก
๔.ราด คือเงินค่าว่าจ้างไปแสดงหนังตะลุง ในสมัยก่อนคืนละ ๙ บาท ๑๒ บาท ๑๕ บาท ในปัจจุบันคืนละ ๖,๐๐๐ ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าผู้ว่าจ้างไม่ให้ตามตกลง เรียกว่า บิดราด
๕.ยกเครื่อง คือการเตรียมลูกคู่ เครื่องประโคมดนตรีให้พร้อม ก่อนออกเดินทางมีการประโคมดนตรี ๑ เพลง
๖.ตั้งเครื่อง เมื่อไปถึงสถานที่แสดง มีผู้รับขันหมากแล้ว คณะหนังขึ้นโรง ประโคมดนตรี ๑ เพลง นอกจากตรวจดูความพร้อมแล้ว เสียงกลองและโหม่งดังไปไกล เนการโฆษณาให้ผู้คนมาชมหนังด้วย จากนั้นลูกคู่เตรียมขึ้งจอ
๗.แก้แผง หรือ แตกแผง เป็นหน้าที่ของคนถือแผงวางเป็นระเบียบ ฤาษี พระอิศวรปักหัวหยวก รูปตลกสำคัญปักปลายหยวก ไม่ให้เกิดเงาขึ้นบนจอ รูปพระอินทร์เหน็บหลังคา รูปพระรูปนาง ปักกับหยวกทางด้านขวา รูปยักษ์ รูปสัตว์ ปักกับหยวกทางด้านซ้าย ในปัจจุบันใช้เชือกขึงระหว่างฝา ๒ ด้าน ห่างจากจอประมาณ ๑.๕ เมตร ใช้ส่วนบนสุดของมือรูปแขวนกับเชือกเป็นแถว สะดวกในการหยิบใช้
๘.เบิกโรง คือการประกอบพิธีกรรมบูชาครู มีอาหารหวาน คาว เหล้า บรรจุถ้วยเล็กๆใส่รวมกันในถาด เรียกว่า ที่ ๑๒ นอกนั้นมีผ้าขาว ๑ ผืน หมากพลู ๙ คำ เทียน ๙ เล่ม นายหนังหรือหมอประจำโรง ทำหน้าที่เบิกโรง ตั้งนโม ๓ จบ ตั้งสัดเคชุมนุมเทวดาไหว้สวัสดี รำลึกถึงครูบาอาจารย์ ปักเทียนที่ ทับ กลอง โหม่ง ปาหมากเข้าในทับ นายหนังเคาะทับเบาๆ เป็นจบพิธีเบิกโรง
๙.ลงโรง คือโหมโรงก่อนการแสดง หลักจากเบิกโรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มด้วยตีกลอง ตามด้วยโหม่ง ฉิ่ง ปี่ ทับ ปี่จะเป่าเพลงพัดชา ตามด้วยเพลงไทยเดิม ทับนำจังหวะ เครื่องดนตรีหนังสามารถยักย้ายให้เร็วหรือช้าได้ ในอดีตลงโรง ๑๒ เพลง เชิด ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ออกรูปฤาษี
๑๐.ออกรูปหรือชักรูป คือการเชิดรูปทับกับจอ ตามอิริยาบทของรูปหรือตัวละครแต่ละตัว เชิดรูปเดิน เหาะ รบ แปลงกาย ร่ายมนต์ โศกเศร้า คร่ำครวญ
๑๑.ไม้ตับ คือ ไม้หนีบรูปหนังให้ทรงตัวอยู่ได้ โคนไม้ตับใหญ่กว่าส่วนปลาย มีความยาวห่างจากตีนรูปประมาณ ๗ นิ้ว ปลายแหลมสำหรับปักรูปบนหยวกกล้วย ไม้ตับทำด้วยไม้ไผ่
๑๒.ไม้มือรูป ทำด้วยไม้ไผ่ เกลากลมขนาดโตกว่าหัวไม้ขีดไฟ ยาวประมาณ ๑๒ ๑๔ นิ้ว ปลายข้างหนึ่งขอดให้กิ่ว เพื่อผูกเชือกหนักร้อยกับมือรูป บังคับให้มือเคลื่อนไหวได้
๑๓.รูปกาก คือรูปตลกต่างๆ พูดจาหรือแสดงท่าทางขบขันเอาเนื้อหาสาระไม่ได้ คนที่พูดจาเหลวไหลสำนวนชาวบ้าน เรียกว่า ออกกาก
๑๔.ชักปาก คือดึงปากส่วนล่าง ให้อ้าขึ้นลงได้ มีคันเบ็ดทำด้วยไม้ไผ่ หรือเขาควายผูกติดกับไม้ตับตรงส่วนหัวของรูป ปลายสุดคันเบ็ด ผูกเชือกมาร้อยกับริมฝีปาดล่างของรูป ดึงเชือกลงปากจะอ้าออก ปล่อยเชือกริมฝีปากล่าง จะอยู่ติดสนิทกับริมฝีปากบนพอดั รูปบางตัว มีริมฝีปากยาว เช่น นายดิก ชักให้เคลื่อนไหวได้ทั้งริมฝีปากบนและล่าง
๑๕.รูปนุด คือรูปมนุษย์ผู้ชาย ที่คู่กับ รูปนาง ที่เป็นมนุษย์ผู้หญิง ที่นำมาเชิดเป็นตัวพระเอก พระรอง นางเอก นางรอง
๑๖.กินรูป คือนายหนังพากย์และเชิดรูปนั้น เข้ากับนิสัยของตัวละครได้ดี ทั้งสำเนียง และท่าทาง ทำให้การเชิดมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริงๆ
๑๗.เบิกปากรูป คือก่อนออกรูปบนจอ เอาปากรูปมาทาบกับปากนายหนัง ว่าคาถา ออ อา ออ แอเป็นเสียงร้องของเด็กทารก ทำให้คนดูเกิดความสงสาร ส่วนรูปตลกให้คาถาเกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย หญิง เพื่อให้เกิดความขบขัน
๑๘.ลงจอ ใช้แป้งที่ปลุกเสกแล้ว เขียนด้วยนิ้วที่จอ คาถา หรือ อักขระที่นิยมกัน คือ ฤ ฤๅ มะ อะ อุ ฦ ฦๅทำให้ชื่อเสียงของหนังเป็นที่เลื่องลือโด่งดัง
๑๙.ผูกดวงใจ ใช้มีดครูแทงหยวกเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลึกประมาณนิ้วครึ่ง ฝังหมาก 1 คำ ปิดหยวกตามรูปเดิม ปลายนิ้วมือกดลงตรงรอยหยวก บริกรรมคาถาผูกดวงใจคนดู ๓ จบ อิตถีโย ปุรุสโส ตะรุโณ โรตันตัง จาระตัง เร เรรัง เอหิ อะคัตฉายะ อะคัตฉาหิ
๒๐.กันตัว คือการบริกรรมคาถาในขณะลูกคู่ลงโรง นั่งยกเข่าทั้ง ๒ ขึ้น ปลายคางวางบนเข่า มือขวาวางบนกระหม่อม มือซ้ายจับที่ประตูลมของเท้า คาถาว่าไม่เหมือนกัน ที่นิยมกันทั่วไปว่า นะกันซ้าย โมกันขวา พุทกันหน้า ทากันหลัง ยะกันกระหม่อม นะปกนะป้อง นะล้อมนะกัน นะกันตัวกู โอม นะ โม พุท ธา ยะบางคนเสกด้วยอักขระ ๑๖ ลูบขึ้น เรียกว่าพาขึ้นเพื่อให้มีความมั่นใจ มีความคึกคะนอง อยากแสดง
๒๑.ผูกขี้ผูกเยี่ยว คือป้องกันมิให้ถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะในขณะที่แสดง คาถาว่าโอมปิดทวารังทั้งเก้าน้ำไม่ให้เข้าลมไม่ให้ออก
๒๒.ตัดเหมรย คือการแก้บน เหมรยเป็นข้อตกลงที่ห้ไว้กับสิ่งที่เร้นลับ เมื่อบรรลุเป้าประสงค์ ก็นำหนังตะลุงมาแสดงตัดเหมรย ห่อเหมรยที่บรรจุหมากพลู มอบให้แก่นายหนัง การตัดเหมรยต้องแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันยกเอาตอนใดตอนหนึ่งมาแสดงพอเป็นพิธี เช่น ตอนพระรามแผลงศรไปสังหารทศกัณฑ์ ดนตรีทำเพลงเชิด มีพระอินทร์มาเป็นสักขีพยานด้วย ฤาษีจับห่อเหมรยขึ้น นายหนังถือเขียน ตัดห่อเหมรยด้วยมีดครู บริกรรม รมคาถาตัดเหมรยว่า พุทธัง ปัจจักขามิ เดนิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะธัมมัง ปัจจักขามิ เดนิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะ สังฆัง ปัจจักขามิ เดหิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะเจ้าภาพจุดเทียนหน้าโรงหนัง ประกาศแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนมีข้อตกลงไว้โดยสมบูรณ์ถูกต้องแล้ว
๒๓.หลบรูป คือนำเอารูปออกจากจอ เมื่อจบตอนนั้น หรือหลบรูปเพื่อเปลี่ยนท่าเชิดใหม่
๒๔.เสียงเข้าโหม่ง เสียงกลมกลืนกับเสียงโหม่ง เวลาเลยบท หรือเวลาเอื้อนเสียงหนังเสียงเข้าโหม่งเป็นที่นิยมของมหาชนตลอดมา
๒๕.ขึ้นเครื่อง ลูกคู่บรรเลงดนตรีรับเมื่อนายหนังขึ้นบท
๒๖.ลงเครื่อง คือหยุดเครื่องประโคมดนตรี เมื่อนายหนังขึ้นบท
๒๗.ขับบท คือ การร้องบทกลอนเป็นทำนอง เช่น ทำนองสงขลา ทำนองสงขลากลาย ทำนองพัทลุง ตรัง ทำนองคอน (นครศรีธรรมราช)
๒๘.เจรจา คือ การใช้ภาษาพูดระหว่างตัวละคร เจ้าเมือง นางเมือง ตัวพระตัวนาง เจรจาด้วยภาษากลาง รูปกากใช้ภาษาถิ่น
๒๙.ขึ้นบท เมื่อขับบทวรรคแรก เอื้อนเสียงซ้ำ 3 พยางค์ท้ายวรรคดังตัวอย่าง
ขอย้อนกล่าวเทพารักษ์ผู้ศักดิ์สิทธ์ (เอื้อนเสียง) ผู้ศักสิทธิ์ ลูกคู่ขึ้นเครื่องรับแล้วลงเครื่อง นายหนังขับบทต่อจากวรรคแรก ใช้เฉพาะโหม่งกับฉิ่งประกอบจังหวะ
๓๐.ถอนบท คือ การเอื้อนเสียง เมื่อขับไปได้ ๔-๕ คำกลอน เพื่อช่วยให้การขับบทไม่จืดชืด ดังตัวอย่าง
เจ้าฟ้าชายพลากรตอนประพาส เยี่ยมเยือนราษฎร์ในชนบทกำหนดหมาย
ปลอมพระองค์ทรงจำแลงตกแต่งกาย ดูละม้ายคล้ายบุคคลธรรมดา
แดนกับดารที่ไหนไปที่นั่น ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงจึงอาสา
น้ำพระทัยไหลหลั่งพระเมตตา แก้ปัญหาช่วยเหลือจุนเจือจาน
ได้ประสบพบความจริงยิ่งฉงน (เอื้อนเสียงร้องซ้ำ ๓ พยางค์หลัง) ยิ่งฉงนลูกคู่ขึ้นเครื่อง เมื่อบรรเลงเพลงจบหรือลงเครื่อง นายหนังขับบทต่อไป คงใช้แต่โหม่งกับฮิ่งประกอบจังหวะ
๓๑.เลยบท คือ การเอื้อนเสียง หรือกระแทกเสียงบทกลอนวรรคสุดท้าย เมื่อขับบทจบตอนนั้นๆ เลยบทจำแนกได้ ๔ ลักษณะ
-
  เลยบทเพื่อออกเดินทาง ดังตัวอย่าง
หนูนุ้ย เท่ง วรินยา โศกจาบัลย์ เที่ยงตะวันต่างกราบลาสองตายาย” (เอื้อนเสียงร้องซ้ำ) เที่ยงตะวันต่างกราบลาสองตายาย ดนตรีทำเพลงเดิน แล้วหลบรูปเข้าฉาก
-
  เลยบทเพื่อดำเนินเรื่องตอนต่อไป ลีลาขับบทเหมือนเลยบทตอนเดินทางดังตัวอย่าง
ยิ่งคิดยิ่งอนาจขาดมาดร ขอตัดตอนจำแนกแตกนิยาย” (เอื้อนเสียงร้องซ้ำวรรคหลัง)
ขอตัดตอนจำแนกแตกนิยาย ดนตรีขึ้นเครื่อง หลบรูปเข้าฉาก ดนตรีเปลี่ยนเป็นบรรเลงเพลงใหม่
-
  เลยบทเศร้า เช่น สลบ ร้องไห้ ลีลาขับร้องบทวรรคสุดท้าย อ้อยอิ่งคร่ำครวญ ดังตัวอย่างแต่พอได้เห็นหน้าสองตายาย กอดลูกชายแน่นิ่งทอดทิ้งตัวเอื้อนเสียงตั้งแต่คำว่าแน่นิ่งลากเสียงให้ยาว ทอดทิ้งตัวดนตรีขึ้นเพลงโอด
-
  เลยบทเชิด เช่นบทเหาะ บทรบ บทแปลงกาย สาป บทแผลงศร ชุบคนตายให้เป็น ร่ายเวทมนต์ ต้องกระแทกเสียง ๓ พยางค์วรรคสุดท้ายของบทร้อง เพื่อให้ดูขึงขัง จริงจัง ดังตัวอย่าง
ท่องนะมะอะอุจบครบสามครา สาปศุลีเป็นนางบ้าวิ่งฝ่าดงกระแทกเสียงวิ่งฝ่าดงดนตรีทำเพลงเชิด
๓๒.ตลกรูปใหญ่ คือรูปเจ้าเมือง นางเมือง ฤาษี เทวดา สามารถพูดให้คนดูเกิดความขบขันได้เหมือนรูปกาก
๓๓.ลำลาบ คือ หนังแสดงเชื่องช้า นำเรื่องไม่เป้นสาระมาพูด ขับกลอนยาวเกินไป เล่นดนตรีนานเกินไป
๓๔.เสียงเข้าโหม่ง คือ เสียงจากนายหนังขับบทกลมกลืนกับเสียงโหม่ง ฟังแล้วแยกไม่ออก ว่าเป็นเสียงของนายหนังหรือเสียงโหม่ง เวลาเอื้อนเสียงหรือเลยบท ฟังไพเราะ รื่นหู เป็นที่นิยมของคนดูทั่วไป
๓๕.โลนหนัง คือ การทำลายสมาธิของนายหนัง เกิดความไม่พอใจ หรือต้องการลองใจ เกิดจากความคึกคะนองของวัยรุ่น ด้วยการส่งเสียงเฮฮา การต่อบทกลอน ข้าวงด้วยไข่ไก่เน่า นายหนังต้องหยุดแสดง ที่อดโทสะไม่ได้ลงมาสู้รบกับคนดูหน้าโรง ก็เคยมีบ่อยๆ
๓๖.ดับแผง คือ การจัดรูปเข้าแผง หลักจากเลิกการแสดงแล้ว เป็นหน้าที่ของนายแผง หรือคนถือแผง จากดับแผงรูปหนังกลายเป้นสำนวนชาวบ้าน มีความหมายว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว อาจเกิดอันตราย ให้รีบเก็บข้าวของออกเดินทาง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น